สรุปสถานการณ์ล่าสุดปี 2018 หุ้น BH รพ.บำรุงราษฎร์
- หุ้น BH เป็นหุ้นโรงพยาบาลที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจาก BDMS มีมูลค่าตลาดประมาณ 138,000 ล้านบาท ในขณะที่ BDMS มีมูลค่าตลาด (Market cap) ประมาณ 419,000 ล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่า BH ประมาณ 3 เท่าเลยทีเดียว
- ในธุรกิจรพ.นอกจากความใหญ่ของมูลค่าตลาดแล้วก็มีจำนวนเตียงที่สามารถนำมาเปรียบเทียบถึงความใหญ่ของรพ.นั้นได้ ปัจจุบัน BH มีจำนวนเตียงจดทะเบียนทั้งสิ้น 580 เตียง ในขณะที่ BDMS มีจำนวนเตียงทั้งสิ้น 8,015 เตียง BDMS จึงถือว่าเป็นกลุ่มรพ.ที่ใหญ่กว่า BH มหาศาล (แต่ถ้านับเฉพาะ BDMS รพ.หลักจะอยู่ที่ 548 เตียง ในกรณีนี้ถือกว่าใกล้เคียงกัน)
- หากเทียบในเชิงรายได้ BH มีรายได้รวมปี 2560 อยู่ที่ 18,530 ล้าน ในขณะที่ BDMS มีรายได้สูงกว่า BH ประมาณ 4 เท่า ที่ 77,136 ล้าน ก็ค่อนข้างสมเหตุสมผลเมื่อเทียบขนาดของ Market cap และรายได้
- ถ้าเปรียบเทียบ BH กับรพ.ในตลาดหลักทรัพย์อื่นๆด้วยค่า PE ประมาณการปี 2018 BH จะมี PE อยู่ที่ประมาณ 31-32 เท่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 38.8 เท่า และต่ำกว่า BDMS ที่ 40 เท่า BCH ที่ 41 เท่าและ THG ที่แถวๆ 55-60 เท่า
- จากข้อมูลถือว่า BH เป็นหุ้นรพ.ที่ถูกกว่าเพื่อนๆพอสมควรเลยทีเดียว แต่ที่ถูกก็อาจจะเป็นเพราะการเติบโตในไตรมาส 3 ปี 2018 ของ BH ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหุ้นรพ.อื่นๆ BH กำไรโตแค่ 7% ในขณะที่ BDMS โต 19% BCH โต 18%
- แต่ถ้ามองในมุมของกำไรสุทธิเมื่อเทียบอัตรากำไรสุทธิ BH กลับมีกำไรสุทธิสูงกว่า BDMS มาก โดย BH มีอัตรากำไรสุทธิ (NPM) ในปี 2018 ที่ 21.28% เทียบกับ BDMS ที่ 13.24% BH ถือเป็นหนึ่งในรพ.ที่เก่งและทำกำไรได้ดีมาก
- ที่อัตราการทำกำไรของ BH สูงกว่า BDMS สาเหตุหนึ่งมาจาก กลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่แตกต่างกันแม้ทั้งสองจะเป็นรพ.ไฮโซเหมือนๆกัน แต่ BDMS จับกลุ่มผู้ป่วยหลายระดับ มีโรงพยาบาลในหลากหลายพื้นที่ ขณะที่ BH เน้นจับกลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้สูง, ผู้ป่วยต่างชาติในเขตใจกลางเมือง และผู้ป่วยโรคร้ายแรงจึงทำให้ทำรายได้ต่อหัวได้มากกว่านั่นเอง
- BDMS เป็นเจ้าของโรงพยาบาลถึง 46 โรงในประเทศไทย มีรายได้กระจายๆกันไป ขณะที่ BH มีรายได้หลักมาจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตรงนานาเท่านั้น (รายได้ 95% ของ BH มาจากที่นี่ ส่วน BDMS รายได้จากรพ.หลักที่ถ.เพชรบุรีมีสัดส่วนประมาณ 20% เท่านั้น) หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ประท้วง หรือน้ำท่วม ตรงที่ๆ BH ตั้งอยู่การดำเนินงานของ BH จะถูกกระทบมากกว่าของ BDMS
- จากข้อมูลล่าสุดใน 3Q18 ผู้ป่วยของ BH เป็นผู้ป่วยชาวไทยเพียง 34% เท่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของ BH เป็นชาวต่างชาติที่ 66% นับเป็นโรงพยาบาลไทยที่มีลูกค้าเป็นผู้ป่วยต่างชาติมากที่สุดในไทย
- BH มีลูกค้าจากชาติไหนบ้าง? (แยกโดยใช้ที่อยู่ปัจจุบัน ถ้าเป็นฝรั่งแต่อยู่ไทยก็ถือเป็นไทย) อันดับ 1. ไทย 2. เมียนมาร์ 3. สหรัฐอาหรับเอมิเรส 4. โอมาน 5.คูเวต 6.กัมพูชา 7.บังกลาเทศ 8.กาตาร์ 9.สหรัฐอเมริกา 10.เอธิโอเปีย จะเห็นว่าที่เราเคยเข้าใจว่า BH มีผู้ป่วยตะวันออกกลางเยอะ ก็ต้องบอกว่าเยอะจริงแต่ถ้าดูกันเป็นชาติๆไปชาติที่เยอะที่สุดคือเมียนมาร์แล้วนะ
- รายได้จากผู้ป่วยชาติที่มีการเติบโตต่อไตรมาส (QoQ) ดีๆก็เช่นคูเวตโต 40%, จีน 33%, สหรัฐ 25% ในขณะที่ผู้ป่วยชาวไทยซึ่งเป็นส่วนใหญ่ลดลง 6.6% (YoY) แต่เนื่องจากเป็นสัดส่วนที่มากจึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้รายได้ไตรมาสนี้ลดลง
- ผู้ป่วยจากจีนของ BH ก็โตเยอะแต่คาดว่ายังมีน้อยเลยไม่ติด Top 10 ตอนนี้แทบทุกๆรพ.พูดถึงผู้ป่วยจากจีนหมด รพ.ใหญ่ๆแต่ละที่ก็ทำกลยุทธ์ขึ้นมาเพื่อดึงดูดจีนโดยเฉพาะ จีนอาจจะกลายเป็นตลาดที่ต้องแข่งขันสูงไปแล้ว?
- ที่ผู้ป่วยชาวไทยหายไปเหตุผลนึงก็เพราะที่ผ่านมากลุ่มรพ.เป็นกลุ่มที่กำไรดีมากกกกผู้ป่วยก็แน่นมากกก รพ.แต่ละโรงจึงพยายามกันเต็มที่ๆจะขยายจำนวนเตียง สร้างตึกใหม่ เพิ่มให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงบริการต่างๆให้ดีและทันสมัยยิ่งขึ้น แม้แต่รพ.ของรัฐอย่างศิริราช หรือจุฬาฯ ก็มีการเปิดตึกใหม่มารองรับผู้ป่วย
- ปรากฏการณ์นี้จึงทำให้เกิด supply รพ.ใหม่มากมายขึ้นพร้อมๆกัน กระทบทั้งอุตสาหกรรม ข้อดีคือผู้ป่วยมีตัวเลือกมากขึ้น ข้อเสียคืออาจทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมชะลอได้เพราะความต้องการรพ.เอกชนเติบโตไม่ทันเมื่อทุกรพ.พร้อมใจกันขยาย
- โดยเฉพาะโรงพยาบาลจุฬาที่อยู่ห่างจาก BH ไม่กี่กิโล เปิดตึกใหม่เป็นโรงพยาบาลขนาด 1,250 เตียงซึ่งถือว่าเป็นขนาด “มหึมา” คุณภาพของแพทย์ที่นั่นก็ไม่ได้แพ้ BH ดังนั้นผู้ป่วยชาวไทยจึงมีอาการหวั่นไหวบ้างเมื่อหมอเก่งพอๆกัน ตึกใหม่ แต่ราคาถูกกว่า
- ราคาค่าบริการ BH สูงขนาดไหน? คิดซะว่าถ้าคุณเป็นหวัดแล้วไปหาหมอที่รพ.ทั่วๆไปคุณจะเสียเงินไม่เกิน 1,500 แต่ถ้าคุณมา BH คุณจะเสียเงินประมาณ 2 เท่าหรือ 3,000 บาท ถ้าคุณคลอดลูกที่รพ.ทั่วๆไปอย่างแพงจะอยู่ที่แถวๆ 40,000-50,000 ไปรพ.กรุงเทพจะอยู่ที่แถวๆ 70,000 แต่ถ้าคุณมา BH จะต้องจ่ายประมาณ 100,000 บาท
- อย่างไรก็ตามในแต่ละวัน BH ยังมีผู้ป่วยเข้ารักษาพยาบาลมากถึงวันละ 3,114 รายต่อวัน กว่า 71% จ่ายเงินค่ารักษาเองด้วย !!! ถือว่าลูกค้าของ BH เป็นระดับ AAA จึงไม่น่าแปลกที่ BH สามารถขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาลได้เรื่อยๆเพราะขึ้นแค่ไหนลูกค้าก็จ่ายได้อยู่ดี
- ที่ผ่านมา 8 ปี BH ขึ้นราคาค่ารักษาได้อย่างต่อเนื่อง ขึ้นราคามามากกว่า 12-13 ครั้ง BH ขึ้นราคาเฉลี่ยปีละ 5% ทำให้ที่ผ่านมารายได้เติบโตดีส่วนหนึ่งก็เพราะการขึ้นราคาค่ารักษาด้วย ตอนนี้ด้วยปัญหาหลายๆอย่างทำให้จำนวนผู้ป่วยของ BH ไม่เติบโต ก็น่าสนใจดีว่าในสถานการณ์แบบนี้ BH จะยังขึ้นราคาได้อีกหรือไม่?
- ซึ่งแม้จะขึ้นราคาได้ก็จะมีผลเป็นดาบสองคม ข้อแรกยิ่งขึ้นราคาผู้ป่วยที่เป็นโรคหนักมากๆอาจตัดสินใจไปรักษาที่อื่นแทน ถ้าเป็นคนไทย BH จะเจอคู่แข่งจากทั้งรพ.รัฐและเอกชนของไทยที่กำลังขยายอย่างต่อเนื่อง (อย่างรพ.จุฬาที่ยกตัวอย่างไปแล้ว)
- ในกรณีชาวต่างชาติ BH ก็จะเจอคู่แข่งซึ่งเป็นรพ.เอกชนชั้นนำด้วยกันเช่น BDMS หรือ BCH ที่ในช่วงหลังก็หันมาใช้วิธีเดียวกันกับ BH ในการหาผู้ป่วยชาวต่างชาติจาก Agency และเสนอราคาให้บริการที่ถูกกว่า BH แพงกว่า BDMS โดยเฉลี่ยประมาณ 20-30% และแพงกว่า World Medical Center ของกลุ่ม BCH ถึง 70-100% เลยทีเดียว
- หากจำนวนผู้ป่วยลดลงจะยิ่งสร้างปัญหาให้กับ BH ซึ่งมีแผนจะขยายรพ.อย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้าโดยมีงบลงทุนประมาณ 13,000 ลบ. 3 ปีที่ผ่านมาอัตราการครองเตียงของ BH ลดลงเรื่อยๆจาก 76% ในปี 2558 มาเป็น 64.2% ในปี 2560 สะท้อนถึงจำนวนผู้ป่วยที่ลดลง
- ทีมผู้บริหารของ BH น่าจะรู้ดีถึงปัญหาข้อนี้ ปีที่ผ่านมาเลยมีการลดต้นทุน, รัดเข็มขัด, ปรับปรุงการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายลง (ดูจากรายได้ที่ลดลง 1.6% แต่ต้นทุนกิจการรพ.ลดลงถึง 7.8%) แม้แต่แผนขยายรพ.ครั้งใหญ่ที่เคยคิดว่าจะเริ่มลงทุนในปี 2019 ก็เลื่อนไปเป็นปี 2020 และยังมีบอกไว้ด้วยว่าจะขยายต่อเมื่อจำเป็น คือเมื่อคนไข้เริ่มเต็มนั่นแหละ แต่คำถามคือเมื่อไหร่ล่ะ?
- ช่วงพีคของ BH ตอนที่ยังมีผู้ป่วยตะวันออกกลางมากๆอาจไม่กลับมีอีกแล้วด้วยหลายเหตุผล 1. โครงสร้างการจ่ายเงินประกันของประเทศตะวันออกกลางที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ป่วยตะวันออกกลางที่มาประเทศไทยเริ่มต้องจ่ายเองในสัดส่วนที่มากขึ้น ผลก็คือผู้ป่วยเหล่านั้นเริ่มหารพ.ที่สามารถรักษาได้เหมือนกันในราคาที่ถูกกว่า 2. รพ.ในประเทศไทยหลายๆรพ.เห็น BH ทำดีก็ทำตามบ้าง ไปหา Agency เอาผู้ป่วยต่างประเทศเข้ามารพ.ตัวเองบ้าง บางรพ.ไม่มีรพ.ในกรุงเทพฯด้วยซ้ำไป ยังพยายามเปิดศูนย์ให้บริการในกรุงเทพฯ เพื่อจะแย่งชิงผู้ป่วยต่างชาติให้ได้ คู่แข่งในตอนนี้เยอะขึ้นกว่าตอนนั้นมาก
- แม้ธุรกิจของ BH จะดูเหนื่อย กำไร BH จะไม่ค่อยโตแต่ก็มีธุรกิจที่เติบโตอยู่บ้าง เช่นธุรกิจศูนย์ Wellness Vitallife ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการมา 17 ปี ดูแลลูกค้าเฉลี่ย 15,000 รายต่อปี 70-80% เป็นชาวต่างชาติ กว่าครึ่งเข้ามาใช้บริการ Vitallife จากการบอกปากต่อปาก
- ปัจจุบัน Vitallife มีรายได้ในปี 2560 456 ลบ. เติบโตจากปี 2559 35% กำไร 126 ลบ. เติบโตสูงถึง 50% ปีนี้ฟังจากที่ผู้บริหารพูดในแถลงผลประกอบการถือว่ายังเติบโตแรงไม่ถอย Vitallife นับว่าเป็นธุรกิจดาวรุ่งของ BH แต่คงไม่ช่วยในเรื่องการเติบโตของรายได้และกำไรมากนักเพราะเล็กมาก (สัดส่วนประมาณ 3-4%) เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของ BH นอกจากนั้นยังมีศูนย์ Wellness ของ BDMS ที่ซื้อโรงแรมปาร์กนายเลิศไป มาเปิดแข่งใกล้ๆซึ่งน่าจะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ Vitallife เลยทีเดียว
- ผู้ป่วยลูกค้าของ BH ที่ว่ารวยแล้ว ผู้ถือหุ้นใหญ่ BH ก็รวยไม่แพ้กัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ BH คือใคร? สิ่งที่หลายๆคนไม่รู้คือ ณ.ตอนนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพฯ หรือ BDMS คือผู้ถือหุ้นใหญ่เบอร์ 1 ของ BH ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 24.88% แม้ในปัจจุบันไม่มีอำนาจในการควบคุมหรือบริหารใดๆ แต่ก็ถือว่า BDMS มีหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยยะอย่างมาก ผู้ถือหุ้นใหญ่รองลงมาคือกลุ่มกรุงเทพประกันภัยที่ 14.65%
- แม้ BDMS ยังไม่มีอำนาจควบคุมหรือบริหารใดๆแต่มันน่าสนใจตรงที่ คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดถ้า BH สามารถกลับมาเติบโตได้คือ BDMS และเจ้าของ BDMS คือคุณหมอประเสริฐที่ถือหุ้นใหญ่ BDMS อยู่ 2,893 ล้านหุ้น หรือ 18.47% ของทั้งหมด นั่นหมายความว่าคุณหมอประเสริฐมีผลประโยชน์ในหุ้น BH อยู่ในมือผ่านการลงทุนของ BDMS แล้วกว่า 33 ล้านหุ้นมูลค่ากว่า 6,500 ลบ.
- BH กำลังจะมีโปรเจคใหม่เป็นศูนย์ Wellness สไตล์รีสอร์ทที่บางกระเจ้า โดยทำร่วมกัน MK (มั่นคงเคหะ) เป็นคนสร้างบ้าน BH ดูแลเรื่องการดำเนินงานของศูนย์ Wellness MINT ช่วยดูแลเรื่องการจัดการศูนย์และอาหาร โปรเจคนี้เป็นโปรเจคขนาด 200 ไร่ มีวิลล่าระดับ 5 ดาว 61 หลัง ฝั่ง BH ลงทุนไม่มากแค่ 270 ลบ. รายละเอียดที่เหลทอยังไม่มีอะไรมากคงต้องติดตามต่อไป
- BH มีการลงทุนใน บริษัท iDoctor ของสิงคโปรเจ้าของ App Raksa ซึ่งเป็น App ให้บริการด้าน Healthcare ถือว่าเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในมุมของเทคโนโลยี หลังจากการเป็นรพ.แรกที่นำ IBM Watson มาใช้ในการวิเคราะห์โรคมะเร็ง
- สรุปคือปัจจุบันถือว่าหุ้น BH ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับหุ้นรพ.อื่นๆ แต่สิ่งที่ท้าทายคือการกลับมาเติบโตอีกครั้งหนึ่งในสถานการณ์อุตสาหกรรมที่มีความยากกว่าเมื่อ 3-5 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันก็สูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลกระทบทำให้จำนวนผู้ป่วยไทยลดลงเหมือนเป็นการซ้ำแผลเดิมจากการที่ BH ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างประกันของตะวันออกกลางทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ไหนจะการลงทุนครั้งใหญ่กว่า 13,000 ลบ. ที่กำลังจะเข้ามากระทบกับผลกำไรในอนาคต (ถ้ายังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้นะ)
- ภาพรวมอุตสาหกรรมดีไหม? ก็ต้องตอบว่ามีโอกาสเติบโตได้เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลต่อ GDP ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำnี่ 3.8% เมื่อเทียบกับประเทศอย่างมาเลเซียที่ 4%, สิงค์โปร 4.3%, จีน 5.3% และค่าเฉลี่ยโลกที่ 6.3% สะท้อนถึงช่องว่างในการเติบโตในอนาคต
- ถามว่า BH จะเจ๊งไหม? อันนี้ไม่เจ๊งแน่นอนครับสบายใจได้ แล้ว BH จะถูก BDMS เข้า Takeover ไหม? อันนี้ผมเองก็ตอบไม่ได้แต่ก็ถือว่ามีโอกาส ถ้าอยากรู้คำตอบจริงๆคงต้องไปถามคุณหมอประเสริฐว่าพี่มาจริงไหมครับ?
เชิญทุกท่านแชร์มุมมองใต้ Comment
ข้อมูลผิดพลาดตรงไหนขออภัยไว้ณ.ที่นี้ด้วยจ้า
แอดมิน Buffettcode